หน้าแรก / ความรู้สุขภาพ

เปิดทุกเรื่องต้องรู้ อุโมงค์แม่เหล็กไฟฟ้า MRI

การตรวจอุโมงค์แม่เหล็กไฟฟ้าคืออะไร ?

การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) คือ การตรวจโดยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยอาศัยประโยชน์จากคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของอะตอมไฮโดรเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ เช่น โมเลกุลน้ำในร่างกาย (H2O) เมื่อผู้เข้ารับการรักษาอยู่ภายใต้อุโมงค์แม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องMRI จะส่งสัญญาณวิทยุที่มีคลื่นความถี่จำเพาะไปกระตุ้นยังบริเวณที่ต้องการตรวจ เมื่อบริเวณนั้นถูกกระตุ้นจะเกิด การกำทอน (Resonance) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับพลังงานตามกระบวนการทางฟิสิกส์ หลังจากนั้นร่างกายจะทำการคายพลังงานที่ได้จากการกำทอน อุปกรณ์รับสัญญาณจะรับสัญญาณการคายพลังงานแล้วแปลงสัญญาณเหล่านั้นให้กลายเป็นภาพบนหน้าจอ ในปัจจุบัน MRI เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการวินิจฉัยความผิดปกติของเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อเยื่อประสาท เนื่องจากสามารถแสดงภาพของโครงสร้างเนื้อเยื่อประสาทได้อย่างชัดเจน รวมถึงสามารถแสดงภาวะความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าการตรวจ CT-scan ซึ่งมักจะใช้ในการแสดงภาพของโครงสร้างกระดูกรอบๆ เนื้อเยื่อประสาท เช่น กะโหลกและกระดูกสันหลัง เป็นต้น

ลักษณะการใช้งาน/ทำไมเครื่อง MRI คล้ายอุโมงค์ ?

การตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่อง ลักษณะคล้ายอุโมงค์ ซึ่งจะมี ความกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร รับน้ำหนักได้ถึง 150 กิโลกรัม การตรวจจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับอวัยวะที่ต้องการตรวจ เช่น การตรวจระบบสมอง จะมีอุปกรณ์ที่รับสัญญาณภาพครอบอยู่บริเวณศีรษะ และการตรวจกระดูกสันหลัง อุปกรณ์รับภาพจะวางอยู่ด้านหลังผู้ป่วย เป็นต้น

MRI ตรวจอะไรบ้าง ?

MRI สามารถใช้ตรวจได้เกือบทุกระบบอวัยวะของร่างกาย ได้แก่ ระบบสมอง ระบบช่องท้องทั้งหมด ระบบกระดูก กล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ เส้นเลือด เป็นต้น

ข้อควรระวังในการใช้บริการ MRI ?

  1. ผู้รับบริการที่กลัวการอยู่ในที่แคบ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ
  2. ผู้รับบริการที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เป็นข้อห้ามในการเข้าเครื่อง MRI เช่น ผู้ที่ผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดเลือดในโรคเส้นเลือดโป่งพอง ในคนที่ดามกระดูก คนที่เปลี่ยนข้อเทียม ลิ้นหัวใจเทียม ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ โลหะกระเด็นเข้าตา มีกระสุนฝังอยู่ในร่างกาย หรือฝังเครื่องทางการแพทย์อื่นๆที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ
  3. ผู้รับบริการที่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะทำการตรวจในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น แม้ว่ายังไม่มีการยืนยันว่าการตรวจมีอันตรายต่อเด็กหรือไม่
  4. ถอดเครื่องประดับและของใช้ส่วนตัวออก ก่อนเข้าเครื่อง MRI
  5. งดแต่งหน้า เพราะเครื่องสำอางอาจมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อายแชโดว์ หรือมาสคาร่าออกด้วย เพราะอาจทำให้ภาพตรวจออกมาไม่ชัดเจน

การตรวจอุโมงค์แม่เหล็กไฟฟ้ามีความทันสมัยและสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แต่ก็แลกมากับราคารักษาที่ค่อนข้างสูง เพราะเครื่อง MRI เป็นการตรวจวินิจฉัยที่มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจได้ในทุกระบบของร่างกาย อีกทั้งยังไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เนื่องจากไม่มีรังสีเอกซ์ จึงทำให้ปัจจุบัน หากต้องการตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกายหรือวางแผนการรักษาที่ต้องอาศัยความคมชัดและความละเอียดของภาพอวัยวะ แพทย์ก็มักสั่งตรวจด้วยวิธีการนี้กันทั้งสิ้น

โทรหาเราได้ที่

1609

พร้อมบริการทุกวัน 24 ชม.

หากท่านมีข้อคำถาม หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม

สามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ชลเวช

104/15 ก ซ.หน้าวัดต้นสน ถ.อัคนิวาต อ.เมือง จ,ชลบุรี 2000

โทรศัพท์ : 038-284354, 038-284355 แฟกซ์ : 038-271-990

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ