การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) คือ การตรวจโดยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยอาศัยประโยชน์จากคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของอะตอมไฮโดรเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ เช่น โมเลกุลน้ำในร่างกาย (H2O) เมื่อผู้เข้ารับการรักษาอยู่ภายใต้อุโมงค์แม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องMRI จะส่งสัญญาณวิทยุที่มีคลื่นความถี่จำเพาะไปกระตุ้นยังบริเวณที่ต้องการตรวจ เมื่อบริเวณนั้นถูกกระตุ้นจะเกิด การกำทอน (Resonance) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับพลังงานตามกระบวนการทางฟิสิกส์ หลังจากนั้นร่างกายจะทำการคายพลังงานที่ได้จากการกำทอน อุปกรณ์รับสัญญาณจะรับสัญญาณการคายพลังงานแล้วแปลงสัญญาณเหล่านั้นให้กลายเป็นภาพบนหน้าจอ ในปัจจุบัน MRI เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการวินิจฉัยความผิดปกติของเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อเยื่อประสาท เนื่องจากสามารถแสดงภาพของโครงสร้างเนื้อเยื่อประสาทได้อย่างชัดเจน รวมถึงสามารถแสดงภาวะความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าการตรวจ CT-scan ซึ่งมักจะใช้ในการแสดงภาพของโครงสร้างกระดูกรอบๆ เนื้อเยื่อประสาท เช่น กะโหลกและกระดูกสันหลัง เป็นต้น
การตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่อง ลักษณะคล้ายอุโมงค์ ซึ่งจะมี ความกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร รับน้ำหนักได้ถึง 150 กิโลกรัม การตรวจจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับอวัยวะที่ต้องการตรวจ เช่น การตรวจระบบสมอง จะมีอุปกรณ์ที่รับสัญญาณภาพครอบอยู่บริเวณศีรษะ และการตรวจกระดูกสันหลัง อุปกรณ์รับภาพจะวางอยู่ด้านหลังผู้ป่วย เป็นต้น
MRI สามารถใช้ตรวจได้เกือบทุกระบบอวัยวะของร่างกาย ได้แก่ ระบบสมอง ระบบช่องท้องทั้งหมด ระบบกระดูก กล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ เส้นเลือด เป็นต้น
การตรวจอุโมงค์แม่เหล็กไฟฟ้ามีความทันสมัยและสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แต่ก็แลกมากับราคารักษาที่ค่อนข้างสูง เพราะเครื่อง MRI เป็นการตรวจวินิจฉัยที่มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจได้ในทุกระบบของร่างกาย อีกทั้งยังไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เนื่องจากไม่มีรังสีเอกซ์ จึงทำให้ปัจจุบัน หากต้องการตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกายหรือวางแผนการรักษาที่ต้องอาศัยความคมชัดและความละเอียดของภาพอวัยวะ แพทย์ก็มักสั่งตรวจด้วยวิธีการนี้กันทั้งสิ้น